Sunday, 28 April 2024
กิตติธัช ชัยประสิทธิ์

อนาคต ‘หัวลำโพง’!! ต้องเดินหน้าด้วยการแปลง ‘คุณค่า’ เป็น ‘มูลค่า’ และเข้าใจผู้ใช้บริการ

กรณีที่สังคมไทยวิพากษ์เรื่องทิศทางในอนาคตของหัวลำโพง ค่อนข้างจะเป็นประเด็นร้อน แต่ทั้งนี้เราอาจสรุปสั้น ๆ ได้ว่า “ไม่ทุบ แต่ปิดตัว” คือไม่มีการทุบทำลายหัวลำโพงตามที่มีข่าวลือออกมา

แต่อีกด้านคือ มีการยุติการเดินรถไฟเข้าที่สถานีหัวลำโพง และจะปรับหัวลำโพงเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่าหัวลำโพงที่ถูกปรับเป็นพิพิธภัณฑ์จะมีหน้าตาอย่างไร

>> แผนลงทุนและปลดหนี้ของการรถไฟ
หากเรานำแผนการพัฒนาระบบคมนาคมมากางดู จะเห็นว่ารัฐบาลได้ย้ายศูนย์กลางคมนาคมทางราง จากหัวลำโพงไปยังสถานีบางซื่อ ซึ่งจะเป็นจุดที่มีทั้งรถไฟชานเมือง (Commuter) รถไฟในเมือง (Metro) และรถไฟทางไกล/เชื่อมเมือง (Long Distance / Intercity) และรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) ในขณะที่หัวลำโพงจะกลายเป็นแค่สถานีหนึ่งในโครงข่ายทั้งหมดเท่านั้น 

และเนื่องจากการรถไฟฯ เป็นหนึ่งในองค์กรภาครัฐที่มีหนี้สินจากการให้บริการสาธารณะมากที่สุด โดยภาระหนี้ของรถไฟที่ขาดทุนสะสมต่อเนื่องอยู่ที่ 150,000 - 160,000 ล้านบาท ทำให้เมื่อกันยายน ปี 2563 การรถไฟฯ ได้ตั้งบริษัทบริหารลูกมาเพื่อทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้ การรถไฟฯ จึงมีแผนจะนำเอาหัวลำโพงไปทำเป็นพิพิธภัณฑ์ และนำพื้นที่ของการรถไฟบางส่วน ให้เอกชนมาลงทุนเชิงพาณิชย์ เพื่อหาเงินเข้าการรถไฟฯ

โดยตามแผนภายใน 30 ปี พบว่า จะมีรายได้เข้ามารวม 800,000 ล้านบาท โดยในปีแรกจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท และปีที่ 5 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาการขาดทุนสะสมต่อเนื่องได้

ซึ่งก็ถือเป็นแผนที่ดี ที่หน่วยงานภาครัฐตั้งใจจะแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสม และหาเงินสำหรับมาใช้พัฒนาองค์กรและบริการสาธารณะให้ดีขึ้นในอนาคต และก็คงไม่มีใครคัดค้าน หากว่าการรถไฟไม่มีแผนจะมีการหยุดการเดินรถเข้ามาที่สถานีหัวลำโพง

>> ความเดือดร้อนของประชาชน
ตามแผนพัฒนาระบบคมนาคม สถานีรถไฟบางซื่อ-หัวลำโพง จะมีการเชื่อมกันอย่างแน่นอน โดยจะวิ่งผ่านสามเสนลงมายังหัวลำโพง แต่ปัจจุบันแม้จะใกล้สิ้นปี 2564 แล้ว โครงการนี้ยังอยู่ในช่วงของการเริ่มประมูลเท่านั้น กว่าจะประมูลจบและเริ่มก่อสร้างก็คงใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 4-5 ปี

ในขณะที่ถ้ายกเลิกการเดินรถเข้าหัวลำโพง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้โดยสารเดิมที่จะเข้ามาที่หัวลำโพง ต้องลงที่สถานีบางซื่อ แล้วต่อรถเข้าไปแถวหัวลำโพงอีก หากเดินทางด้วย MRT อย่างน้อยก็ 42 บาท หรือต้องต่อรถเมล์-รถตู้ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มขึ้น และคนที่ใช้บริการรถไฟแบบเช้า-เย็น ส่วนมากเป็น ‘ผู้มีรายได้น้อย’ ที่อาจมีการเพิ่มต้นทุนชีวิตเข้ามาอีกเกือบ 90 บาทต่อวันสำหรับพวกเขาถือเป็นเรื่องที่หนักหนามาก 

หมายความว่าพวกเขาต้องรออีก 4-5 ปีให้ส่วน missing link บางซื่อ-สามเสน-หัวลำโพง เสร็จสิ้น แถมเมื่อเสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่าค่าเดินทางจะเป็นเท่าไร ซึ่งถ้าเทียบกับรถไฟชั้น 2-3 ซึ่งมีค่าเดินทางที่ประหยัดกว่า ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไรนัก

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อประชาชนโดยตรง และทำให้มีแรงต้านจากสังคมอย่างรุนแรง จนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องออกคำสั่งให้มีการทบทวนแนวทางของการรถไฟ ที่จะยุติการเดินรถเข้ามาที่สถานีหัวลำโพงเสียใหม่ โดยให้มีการฟังเสียงสะท้อนของประชาชนให้รอบด้านเสียก่อน

>> แนวทางการพัฒนาที่สังคมคาดหวัง
นอกจากประเด็นเรื่องการคมนาคมแล้ว ปัญหาอีกอย่างที่ทำให้สังคมวิจารณ์กันมากในเรื่องหัวลำโพงก็คือ ภาพจำลอง 3 มิติที่ถูกเผยแพร่ออกมา แสดงให้เห็นถึงตึกสูงซึ่งถูกสร้างในที่ดินด้านหลังอาคารหัวลำโพง ที่การเลือกมุมภาพ ทำให้รู้สึกเหมือนตึกที่ถูกสร้างใหม่นั้นไปข่มความสำคัญของอาคารหัวลำโพงเดิมลง

ในขณะที่เมื่อลองดูกรณีศึกษาในต่างประเทศที่มีการนำสถานีรถไฟเก่าไปปรับปรุงหรือเปลี่ยนการใช้งานเป็นพิพิธภัณฑ์ เช่น กรณี Musée d'Orsay ที่อยู่ในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีเปลี่ยนสถานีรถไฟเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี (เช่นเดียวกับหัวลำโพง) ไปเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ หรือ Art Gallery

ภาพสถานีรถไฟ Orsay ในอดีต ที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น Art Gallery ในปัจจุบัน

โดยในพิพิธภัณฑ์นั้นมีการเก็บศิลปะในอดีตไว้ ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่งานศิลปะสมัยใหม่และพื้นที่กิจกรรม ให้ศิลปินได้มาปล่อยของ แสดงฝีมือ เรียกว่าทั้งรักษารากวัฒนธรรมเดิม และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ไปพร้อมกัน ในขณะที่ด้านนอกก็ทำเป็นพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่สีเขียวให้ผู้คนได้เข้าไปใช้งาน

บรรยากาศการแสดงงานศิลปะภายในพิพิธภัณฑ์ Orsay

ด้วยความน่าสนใจดังกล่าว ได้เปลี่ยนให้สถานีรถไฟเก่า กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียง และสามารถหารายได้จากร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรมภายในอาคาร โดยที่ยังรักษาคุณลักษณะ (Character) ที่แสดงถึงความเป็นสถานีรถไฟเก่าแก่ได้อย่างชัดเจน และกลายมาเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ Art Gallery แห่งนี้ต่างจากที่อื่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการมองเห็นความสำคัญของอาคารประวัติศาสตร์ และเข้าใจคุณค่า (Cultural & Social Value) ที่สามารถนำไปสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ได้ 

Café ในพิพิธภัณฑ์ Orsay ที่ใช้คุณลักษณะของอาคารเก่ามาเป็นจุดขาย

Hometown Cha-Cha-Cha เมื่อเกาหลีเบนเข็มกระชับคนเมือง - ชนบทให้ใกล้กัน พร้อมเชื่อมสัมพันธ์ความต่างระหว่างวัย

เป็นที่โด่งดังกับกระแสภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Hometown Cha-Cha-Cha ซึ่งเป็นเรื่องรักโรแมนติกระหว่างพระเอก-นางเอก พร้อมกับพล็อตเรื่องที่อยู่ในเมืองชนบทริมทะเลของประเทศเกาหลี ซึ่งเรียบง่ายแต่ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีเสน่ห์    

ในบทความนี้ เราจะมาวิเคราะห์กันว่านอกจากความรักโรแมนติกของคู่พระ-นาง เนื้อเรื่องเข้มข้น ที่มีทั้งสนุก ขำขัน เศร้า กดดัน และบทดี ๆ ที่ทำให้ได้อมยิ้มอยู่ตลอดทั้งเรื่องแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แฝง ‘ทัศนคติ’ และ ‘ค่านิยม’ อะไรให้กับผู้รับชมบ้าง

การเชื่อม ‘เมือง-ชนบท’ (Urban-Rural) และความเข้าอกเข้าใจบริบทในแต่ละท้องถิ่น
ภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องโดยให้เห็นถึงความขัดแย้งกันระหว่าง นางเอกซึ่งเป็นหมอฟันจากเมืองหลวงอย่างโซล มีสังคมอยู่กับชนชั้นที่มีการศึกษาดี มีหน้ามีตาในสังคม มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี จากอาชีพที่ทำรายได้สูง ซึ่งแตกต่างและแปลกแยกจากคนอื่นในพล็อตของเรื่องที่เป็นคนในสังคมชนบทริมทะเล ซึ่งประกอบอาชีพทั่วไปและไม่ได้มีการศึกษาสูง หรือมีรสนิยมการใช้ชีวิตและเข้าสังคมแบบคนเมือง ทำให้เกิดความไม่ลงรอยและขัดแย้งกันหลายประการ โดยมีพระเอกของเรื่องที่คอยเป็นผู้สอนสิ่งต่าง ๆ ให้กับนางเอก เพื่อให้นางเอกสามารถปรับตัวเข้ากับความเป็นสังคมชนบทของเมืองกงจินได้

ครั้งหนึ่งนางเอกซึ่งไปร่วมงานรื่นเริงของหมู่บ้าน ได้ไปแสดงท่าทางรังเกียจการทำอาหารของชาวบ้านในงานว่า ‘ไม่สะอาด ถูกสุขอนามัย’ เพราะทำในที่เปิดโล่ง หรือ การที่คุณยายกัมรีปั้นข้าวกับกิมจิให้นางเอกกินด้วยมือ ซึ่งนางเอกก็แกล้งรับไว้แต่ไม่กิน เพราะมองว่าผ่านกระบวนการที่ไม่สะอาด

รวมถึงการใช้คำพูดที่ขวานผ่าซาก รุนแรงกับคนในวงสนทนา ที่แม้จะเป็นความจริง แต่คำพูดของนางเอกนั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในเรื่องมารยาทหรือปราศจากความถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมในชนบท

ภาพยนตร์ต้องการแสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงนางเอกไม่ได้เป็นคนจิตใจไม่ดี แต่เพราะมุมมองของคนที่โตมาในสังคมเมืองที่ทุกคนมีความเป็น ‘ปัจเจก’ สูง แต่เมื่อนางเอกเข้ามาอยู่ในเมืองชนบทซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมแตกต่างจากสังคมเมือง ทำให้เธอปรับตัวไม่ได้ จนเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ซึ่งกว่าที่พระเอกจะเข้ามาชักจูง (แกมบังคับ) ให้นางเอกไปขอโทษต่อชุมชน พร้อมทั้งซื้อขนม-น้ำดื่มติดไม้ติดมือไปเลี้ยงในที่ประชุมหมู่บ้าน จนถึงให้นางเอกลดละอัตตาส่วนตัวและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับคนในหมู่บ้าน สุดท้ายผู้คนเริ่มเปิดใจและยกโทษให้นางเอกได้ ก็ใช้เวลาพอสมควร

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความคิดของคนในชนบทจำนวนมาก ที่เป็นคนซื่อและจริงใจ ใครทำอะไรไม่ดี เขาก็ไม่ชอบ แต่หากคนนั้นสำนึกผิด พร้อมปรับตัวแก้ไข พวกเขาก็พร้อมจะให้อภัยและอยู่ร่วมกันได้

เสรีภาพที่มาพร้อมกับความเคารพต่อบริบทสังคม
อีกตัวอย่างคือกรณีที่นางเอก ใส่กางเกงเลคกิ้งรัดรูปและเสื้อเอวลอย วิ่งออกกำลังกายในหมู่บ้าน ซึ่งเมื่อมองผ่านสายตาของคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ก็มองว่าเป็นชุดที่ ‘โป๊เกินไป’ ไม่เหมาะสมจะใส่มาวิ่งในที่สาธารณะ ซึ่งพระเอกพอทราบเรื่องก็ได้มาคุยกับนางเอกถึงความกังวลใจของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน

เรื่องนี้นางเอกได้เถียงกับพระเอกในทำนองว่าเป็น ‘สิทธิเสรีภาพของตน’ พระเอกจึงได้ตอบกลับมาว่า “ใช่…มันเป็นสิทธิ” แต่ขณะเดียวกันนางเอกอยู่ในหมู่บ้านที่มีบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่ต่างจากในเมืองใหญ่ และเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุอยู่เยอะ นางเอกจึงควรคิดถึงวัฒนธรรมและบริบทของสังคมที่ตนมาอาศัยอยู่ด้วย 

กรณีนี้ พระเอกไม่ได้ขอให้นางเอกเปลี่ยนแนวทางการแต่งตัวไปอีกแบบ หรือห้ามแต่งชุดออกกำลังกายมาวิ่ง แต่สิ่งที่พระเอกบอกคือ ขอให้คิดถึงความเหมาะสมและรักษา ‘สมดุล’ ระหว่างเสรีภาพของตนกับบริบททางสังคมที่ตนอยู่ ซึ่งภายหลังนางเอกก็ได้ใส่เสื้อที่ยาวปิดลงมา ไม่ได้เปิดเผยเนื้อหนังหรือสัดส่วนมากเช่นเดิม

ความเข้าใจผู้สูงอายุและคนต่างวัย
ตลอดทั้งเรื่องที่พยายามนำเสนอมุมมอง ทัศนคติ หรือค่านิยมของผู้สูงวัยที่โตมากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่หรือคนที่ยังไม่ต้องดูแลพ่อแม่วัยเกษียณ จะไม่เข้าอกเข้าใจมุมมองเหล่านี้ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดมุมมองเหล่านี้ออกมาได้ดีมาก    

ในภาพยนตร์มีตอนที่นางเอกจะกลับเข้าเมืองโซล ไปทำธุระ โดยพระเอกขอให้นางเอกพาคุณยายผู้สูงอายุทั้ง 3 คนซึ่งมีธุระหรือไปเยี่ยมลูกหลาน ติดไปกับรถนางเอกด้วย ซึ่งตลอดทางผู้สูงอายุที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ก็จะปวดฉี่บ่อย ทำให้ต้องมีการจอดแวะข้างทางเพื่อให้ผู้สูงอายุไปเข้าห้องน้ำตลอดทาง

หรือกรณีที่ จีซอง-ฮยอน รุ่นพี่ของนางเอกซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ชื่อดัง และประทับใจหมู่บ้านกงจิน จะมาขอบ้านคุณยายกัมรีถ่ายรายการ ซึ่งในตอนแรกคุณยายปฏิเสธเสียงแข็ง ยังไงก็ไม่ยอม แต่เมื่อเขามาพบปะคุณยายบ่อย ๆ มาทำความสนิทสนม มาดูแลคุณยาย ก็เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน จนยอมให้โปรดิวเซอร์ใช้บ้านคุณยายถ่ายทำรายการได้

เพราะผู้สูงอายุจำนวนมาก เขาไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน ชอบก็บอกชอบ ไม่ชอบก็บอกไม่ชอบ และบางครั้งก็อาจมีดื้อรั้นหรือระแวงสิ่งต่าง ๆ บ้าง หากแต่อาศัยความเข้าใจ และค่อย ๆ พูดจาสื่อสารกันด้วยความจริงใจ ที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเปิดใจและทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ในเรื่องนี้จึงไม่ได้มีใครดีกว่าใคร ผู้สูงอายุในชนบทก็ปรับตัวเข้าหาคนหนุ่มสาวจากในเมืองได้ เช่นเดียวกับที่คนหนุ่มสาวในเมืองก็เข้าอกเข้าใจผู้สูงอายุในชนบทได้ อยู่ที่ทุกคนเปิดใจที่จะเรียนรู้และเข้าใจผู้อื่นในสิ่งที่เขาเป็น มิใช่ตั้งท่าปิดประตูและก่นด่ากันด้วยความคิดที่แตกต่างเพียงอย่างเดียว 

อัฟกันฯ ระอุ!! กาตาร์ - ปากีสถาน เริ่มบีบตอลิบาน หลังเบี้ยวสัญญาที่ให้ไว้

อัฟกานิสถานกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงทางสังคมและการเมืองอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลที่นำโดยกลุ่มตอลิบานเริ่ม ‘ออกลาย’ โดยมีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงตั้งแต่ชั้นมัธยมไปเรียนหนังสือ และเริ่มห้ามผู้หญิงทำงาน ไปจนถึงบังคับให้ผู้หญิงใส่บูร์กา (Burqa) ซึ่งเป็นชุดคลุมทั้งตัวและใบหน้า

ในขณะที่ตอนตอลิบานเข้ามายึดคาบูล ตอลิบานประกาศว่าจะอนุญาตให้ผู้หญิงเรียนหนังสือและทำงานได้ปกติแค่ต้องใส่ฮิญาบ (Hijab) เท่านั้น

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าการผิดสัญญาและแนวทางสันติภาพที่เคยตกลงไว้ในเวทีสันติภาพที่โดฮา ประเทศกาตาร์นั้น คาดการณ์ว่าเกิดจากความขัดแย้งภายใน

สายพิราบ vs สายเหยี่ยว
ปัจจุบันตอลิบานแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ ตอลิบานสายพิราบนำโดย Mullah Abdul Ghani Baradar หรือ ‘บาราดาร์’ และตอลิบานสายเหยี่ยวหรือพวกหัวรุนแรงที่ยึดถืออุดมการณ์รัฐอิสลามดั้งเดิมของตอลิบาน ที่นำโดยนาย Sirajuddin Haqqani หรือ ‘ฮักกานี’ ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้าย

โดยนายบาราดาร์ เป็นผู้บินไปเจรจาสันติภาพกับสหรัฐอเมริกา ที่กรุงโดฮาประเทศกาตาร์ และยังเป็นผู้นำตอลิบานคนแรกที่ได้พบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย

แต่แม้ว่านายบาราดาร์จะเป็นหัวหอกในการเจรจาสันติภาพก็จริง แต่อำนาจในการรบและกำลังทหารกลับอยู่กับกลุ่มของนายฮักกานี ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบอิสลามมิสท์ที่รู้จักแต่การสู้รบ และยังยึดมั่นกับอุดมการณ์ทางศาสนาแบบสุดโต่งเช่นเดิม

ดังนั้นในความเป็นจริง รัฐบาลตอลิบานอาจไม่ได้เป็นไปดังที่นายบาราดาร์เคยให้สัญญาไว้ ประกอบกับที่นายบาราดาร์หายตัวไปหลายวัน แม้แต่ตอนที่รัฐมนตรีต่างประเทศของกาตาร์บินมาอัฟกานิสถาน บินมาหารือกับตอลิบานล่าสุด นายบาราดาร์ก็ไม่ได้ไปพบ ทั้งที่เป็นผู้นำทีมเจรจาตั้งแต่แรก

ถึงขั้นมีข่าวออกมาว่านายบาราดาร์ถูกกลุ่มของนายฮักกานีสังหารจนเสียชีวิตไปแล้ว แต่ล่าสุดก็มีการนำวิดีโอที่มีนายบาราดาร์ ออกมายืนยันว่าตนเองยังไม่ตาย และอย่าไปเชื่อข่าวปลอม แต่หลายฝ่ายก็ยังมองว่าทั้งหมดอาจเป็นการจัดฉากบีบให้นายบาราดาร์สื่อสารเช่นนั้นก็เป็นได้

"ปฏิรูปตำรวจ" อย่างไรให้เห็นผลจริง? ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรมและกระแส

กรณีผู้กำกับดังในจังหวัดนครสวรรค์ ทำการทารุณข่มขู่ เพื่อรีดเงินจากพ่อค้ายาเสพติด จนผู้ต้องหาเสียชีวิตบน สน.นั้น กลายมาเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้คนพูดถึงการปฏิรูปตำรวจกันอีกครั้ง

แต่การ "ปฏิรูป" ที่ว่า มักจะไม่มีคำตอบว่าจะปฏิรูปเรื่องอะไร เพราะหลายคนที่พูด ก็ไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหนของระบบ บ้างก็แยกไม่ออกระหว่าง "ปัญหาตัวบุคคล" กับ "ปัญหาเชิงระบบ" บางเรื่องระบบไม่ได้มีปัญหา แต่เป็นเรื่องตัวบุคคลที่ไม่ดี

แต่หากมีบุคคลไม่ดีในระบบเยอะ ๆ ก็ย่อมเชื่อได้ว่าเพราะระบบมีปัญหาในการตรวจสอบควบคุม จนคนไม่ดีย่ามใจและทำสิ่งไม่ดี เพราะไม่เกรงกลัวต่อการตรวจสอบ

ทั้งนี้การปฏิรูปตำรวจมีการศึกษาวิจัยจากนักวิชาการและภาคประชาสังคมเป็นระยะเวลายาวนานและมีงานวิจัยหลายชิ้นมาก แต่หากจะให้สรุปใจความสำคัญสั้น ๆ พอสังเขป คงแบ่งได้เป็นประเด็นหลัก ดังนี้

1.) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตำรวจ
2.) โครงสร้างองค์กรที่ตำรวจสังกัด
3.) การได้มาซึ่งบุคลากรตำรวจในหน่วยต่าง ๆ
4.) โครงสร้างค่าตอบแทนและสวัสดิการตำรวจ

โดยข้อ 3-4 เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดปลีกย่อย แต่การจะได้มาซึ่งข้อ 3-4 จำเป็นจะต้องวิเคราะห์ลงไปในประเด็นที่ 1-2 ซึ่งเป็นหัวใจหลักของระบบการตรวจสอบตำรวจเสียก่อน

ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตำรวจ

สิ่งที่ทำให้ตำรวจมีการทุจริต คอร์รัปชัน ใช้อำนาจโดยมิชอบที่สุด คือ การที่ตำรวจ "มีอำนาจมากเกินไป" ทั้งการจับกุม, สืบสวน, สอบสวน และทำสำนวนส่งอัยการ

ซึ่งเปิดช่องให้ตำรวจที่ไม่ดี ใช้อำนาจในการต่อรองหรือกดดันผู้ต้องสงสัยให้สินบนเพื่อให้หลุดคดี หรือแม้แต่ใช้อำนาจในการยัดข้อหาให้กับใครก็ได้ เพราะทำได้ทั้งการจับกุม สืบสวน สอบสวน และเขียนสำนวนส่งอัยการ

ตำรวจในหลายประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ในการจับกุมเท่านั้น ในขณะที่การสืบสวน (Investigation) สอบสวน (Inquiry) เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนที่ขึ้นตรงสำนักงานอัยการบ้าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้าง ต่อผู้ว่าการรัฐบ้าง ต่อรัฐบาลกลางบ้าง ก่อนจะทำสำนวนให้อัยการพิจารณาและยื่นฟ้องต่อศาล

การแยกอำนาจเช่นนี้ เพราะเขาเข้าใจความจริงว่า ตำรวจทุกประเทศใกล้ชิดกับพื้นที่ บุคคล (ทั้งดีและไม่ดี) ซึ่งอาจทำให้มีส่วนเกี่ยวหรือมีผลประโยชน์ร่วมกับบุคคลในพื้นที่

ดังนั้น จึงต้องให้หน่วยงานอื่นจากภายนอกมาทำคดี เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และคานอำนาจ/ตรวจสอบไขว้กันไปมา ตำรวจจะไม่สามารถเป็นผู้จับกุม และใช้อำนาจข่มขู่ผู้ต้องหาให้รับสารภาพ หรือใช้อำนาจในการยัดข้อหา หรือเปิดช่องให้มีการติดสินบนหรือรีดส่วยจากผู้ทำผิดได้ หรือถึงทำก็ทำได้ยาก

และเพราะตำรวจมีหน้าที่แค่จับกุม แต่คนสืบสวนสอบสวน และสั่งฟ้องเป็นอีกหน่วยงาน หากจะยัดเงินเพื่อให้หลุดคดีก็ต้องยัดเงินทั้ง ตำรวจ สืบสวนสอบสวน อัยการ ศาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก (ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่มันยุ่งยากและโอกาสถูกจับได้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานมีสูง)

โครงสร้างองค์กรที่ตำรวจสังกัด

นอกจากอำนาจหน้าที่ที่มีมากเกินไปแล้ว การที่ตำรวจทั้งประเทศขึ้นตรงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ไม่มีการตรวจสอบไขว้กันเองระหว่างหน่วยงานด้วย

ในขณะที่ตำรวจในหลายประเทศขึ้นตรงต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ในสหรัฐอเมริกา หากประชาชนมีข้อสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในท้องที่หรือในระดับรัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากรัฐบาลกลางหรือ FBI ก็จะเป็นผู้เข้าไปดำเนินการสอบสวน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบกันระหว่างตำรวจท้องถิ่นกับตำรวจส่วนกลาง 

และเพราะทั้งสองหน่วยไม่ได้ขึ้นตรงต่อผู้มีอำนาจคนเดียวกัน จึงไม่ต้องเกรงใจหรือกลัวว่าจะมีใครมาสั่งอีกฝ่ายได้ ทุกหน่วยงานล้วนแต่ทำงานตรวจสอบกันเอง ตั้งแต่ตำรวจท้องที่ เจ้าหน้าที่สิบสวนสอบสวน/นักสืบ อัยการ ศาล ตำรวจรัฐบาลกลาง (FBI)

นอกจากนี้การที่ตำรวจขึ้นตรงต่อท้องถิ่น ซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจของผู้ว่าการรัฐหรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง 

หากมีเรื่องฉ้อฉลในวงการตำรวจในระดับเมืองหรือรัฐ ย่อมทำให้ผู้ว่าฯ เสื่อมความนิยม และอาจทำให้แพ้การเลือกตั้ง กลับกันผู้ว่าฯ เองก็ต้องพยายามเอาใจประชาชนที่อยากให้มีการดำเนินการตรวจสอบให้โปร่งใส 

จึงเป็นที่มาว่า 'เสียงของประชาชน' จะช่วยให้การคานอำนาจและตรวจสอบการทำงานของตำรวจที่ขึ้นตรงกับการปกครองส่วนท้องถิ่น 

การกระจายอำนาจตำรวจลงไปยังส่วนภูมิภาค ให้ขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ผู้ว่าการตำรวจภูมิภาค แล้วใช้วิธีการตรวจสอบไขว้กันระหว่างตำรวจต่างภูมิภาคที่มีศักดิ์และอำนาจเท่ากัน จะช่วยทำให้อำนาจในองค์กรตำรวจถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน และเมื่อมีปัญหาก็ให้ตรวจสอบไขว้กันเอง

Andrew Mark Cuomo ผู้ว่าการรัฐ New York แถลงการณ์ร่วมกับตำรวจประจำรัฐนิวยอร์ค (N.Y.P.D)

เพราะธรรมชาติของมนุษย์ คือ หากไม่มีกฎเกณฑ์และระบบตรวจสอบคานอำนาจที่ชัดเจน จะทำให้คนลุแก่อำนาจ และไม่กลัวการกระทำผิด 

แม้แต่ประเทศที่เราเชื่อกันว่าระบบตำรวจถูกออกแบบมาดีประมาณหนึ่งแล้วก็ตาม ก็ยังพบเห็นความฉาวโฉ่ได้อยู่ไม่เว้นแต่ละวันไม่ว่าจะการทุจริต ยัดข้อหา กระทำรุนแรง และอื่น ๆ 

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการมีระบบที่ดี ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีการฉ้อฉลหรือทุจริต แต่ระบบที่มีการคานอำนาจกันระหว่างหน่วยงานจะช่วยลดการลุแก่อำนาจของบุคคลที่มีอำนาจ และช่วยทำให้บุคคลที่ไม่ดีนั้นถูกเปิดโปงได้ง่ายกว่าการรวมอำนาจหน้าที่ไว้ที่บุคคลหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเสมอ

นี่คือหัวใจเบื้องต้นในการปฏิรูปตำรวจที่ต้องเข้าใจกันให้ถูกต้องเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการวนเวียนอยู่กับวาทกรรม “ปฏิรูป” โดยไม่เข้าใจปัญหาที่ต้องการจะปฏิรูป ไปจนถึงการหลงทิศหลงทางไปถกในรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นส่วนประกอบมากกว่าจะเข้าใจแก่นกลางของปัญหาอย่างแท้จริง


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9

ประวัติศาสตร์ดำมืดของ “Chinatown” กับการกดขี่ชาวจีนในสหรัฐอเมริกา (ตอนที่ 2)

มาต่อกันกับตอนที่ 2 “ชะตากรรมและจุดพลิกผัน” ของย่าน Chinatown ในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ตอนแรกเราได้ทราบกันแล้วว่า ชะตากรรมของคนจีนในสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ได้ราบรื่นเหมือนชาวจีนในสยามประเทศเลยแม้แต่น้อย

ทั้งการต้องตกเป็นแพะรับบาปว่าไปแย่งงานคนอเมริกันในช่วงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ ถูกรังเกียจ ถูกเหยียดเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ (Racism) ดูมองเป็นเผ่าพันธุ์ที่โสโครก ชั่วร้าย ไร้ศีลธรรม ในสายตาคนผิวขาว และจากนี้ก็จะถูกวางแผนขับไล่ให้ออกไปจากที่ดินใน Chinatown 

ก่อนจะกลับมาพลิกผันด้วยวิสัยทัศน์ของชาวจีนที่ต้องการรักษา Chinatown ไว้ ซึ่งในตอนนี้ เราจะมาดูกันว่าเขาจะมีแผนรับมือกับคนผิวขาวอย่างไรบ้าง และทำอย่างไร Chinatown ถึงมาเป็นอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันได้

ย่าน Chinatown ในเมืองซานฟรานซิสโก ปี 1900

ในปี 1906 คณะกรรมการเมืองซานฟรานซิสโกได้มีแผนให้ทำการย้ายย่าน Chinatown ออกไปอยู่นอกเมืองในเขตห่างไกลจากตัวเมือง แต่แล้วเหตุไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้น เช้าวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1906 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนทำให้เมืองซานฟรานซิสโกพังพินาศและเกิดเหตุไฟไหม้ไปทั่วทั้งเมือง จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน

สภาพความเสียหายของเมืองซานฟรานซิสโกและย่าน Chinatown เดิม

ไม่มีใครทราบว่ามีชาวจีนเสียชีวิตไปกี่คน เนื่องจากการนับผู้เสียชีวิตครั้งนั้น ไม่นับรวมชาวจีนที่อยู่ในเขต Chinatown แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ทำให้ย่าน Chinatown พังพินาศ ซึ่งกลายมาเป็นโอกาสให้แผนการย้าย Chinatown ดูจะเป็นไปได้ด้วยดี 

ถึงขนาดที่ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งได้ทำข่าวว่า “สิ่งที่น่าพึงพอใจอย่างเดียวท่ามกลางความสูญเสียของเมืองซานฟรานซิสโก ก็คือการที่ย่านคนจีนถูกทำลายลง ชุมชนเชื้อโรคนั้นไม่มีอีกต่อไปแล้ว”

แต่ในเวลาอีกแค่ 2 สัปดาห์ต่อมา ได้มีการพิจารณาเรื่องการย้ายถิ่นคนจีนออกไปนอกเมืองใหม่อีกรอบ เนื่องจากธุรกิจของชาวจีนเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจของเมืองซานฟรานซิสโก และดีต่อความสัมพันธ์ทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและจีน

อีกทั้งสินค้าจากจีนที่นำเข้ามาค้าขาย ยังทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเมืองซานฟรานซิสโก จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของเมืองที่ต้องการการฟื้นฟูหลังความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

การค้าระหว่างอเมริกัน-จีน เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของเมือง จนทำให้เมืองรอบข้างอย่าง Seattle และ Los Angeles เสนอตัวจะขอรับชุมชนชาวจีนจากเมืองซานฟรานซิสโก หากว่าซานฟรานซิสโกไม่ต้องการชาวจีนในเมืองของตน

Look Tin Eli พ่อค้าชาวจีนในเมืองซานฟรานซิสโก ได้นำเสนอแผนต่อคณะกรรมการเมืองซานฟรานซิสโกเพื่อที่จะให้ย่านคนจีนตั้งอยู่ที่เดิมได้ต่อไป ด้วยการเนรมิตย่านคนจีนขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นำเอกลักษณ์บางอย่างของสถาปัตยกรรมจีนมาใส่ไว้กับตัวอาคาร

Look Tin Eli พ่อค้าชาวจีนผู้นำเสนอแผนปรับปรุง Chinatown

แบบสถาปัตยกรรมของ Chinatown ใหม่นั้น ออกแบบโดยสถาปนิกชาวตะวันตก ซึ่งไม่เคยเห็นสถาปัตยกรรมจีนจริง ๆ แต่เป็นการเห็นจากรูปวาดหรือภาพถ่าย ดังนั้นสถาปัตยกรรมจีนที่เห็นอยู่ถูกสร้างออกมาไม่ได้ตรงตามระบบโครงสร้างหรือการรับน้ำหนักของสถาปัตยกรรมจีนอย่างแท้จริง แต่เป็น “สถาปัตยกรรมจีนที่อยู่ในความรับรู้ของชาวตะวันตก”

ส่วนที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดน่าจะเป็นซุ้มประตูสีแดงและหลังคาแบบจีน ซึ่งเด่นสะดุดตาชาวตะวันตก โดยที่จุดประสงค์ของ Chinatown ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นั้น มีไว้เพื่อเป็น Theme Park สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังเมืองซานฟรานซิสโก ด้วยเหตุนี้ทำให้ย่าน Chinatown ไม่ถูกย้ายออกไป และยังคงอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโกมาจนถึงทุกวันนี้

รูปแบบ Chinatown ที่ซานฟรานซิสโก ได้กลายมาเป็นต้นแบบของ Chinatown ในเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาทั้ง New York, Los Angeles, Washington DC และอื่น ๆ

สุดท้ายเราจะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์ของ Chinatown ในสหรัฐฯ นั้นเริ่มมาจากแหล่งเสื่อมโทรม และเป็นที่รวมของคนที่ถูกเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเผ่าพันธุ์ ก่อนการพลิกผันกลับมาฟื้นฟูเป็น “Chinatown ใหม่” ด้วยวิสัยทัศน์ของพ่อค้าชาวจีน 

ซึ่งการสร้าง Chinatown ใหม่นั้น เป็นความพยายามในการเอาตัวรอด เพื่อให้คนจีนสามารถอยู่ต่อไปได้ในเมืองของคนผิวขาว อีกทั้งยังเป็นการทำเพื่อรักษาอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของตนเองไว้ 

ในกรณีสถาปัตยกรรมของ Chinatown จึงเป็น “เครื่องมือต่อรอง” ในทางการเมืองของชาวจีนกับผู้มีอำนาจผิวขาวในสหรัฐฯ ในเวลานั้น ด้วยการนำเสนอ Chinatown ที่สามารถสร้างรายได้และเศรษฐกิจให้กับเมืองได้ จนทำให้พวกเขาอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ 


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เยาวชนจีนยุคใหม่ 'หัวก้าวหน้า' และ 'รักชาติ' ไปพร้อมกัน

“ประเทศจีนไม่ได้สมบูรณ์พร้อม แต่มันมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ” ความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่ในจีน ยุคที่เราเรียกว่า #เยาวชนยุคสีจิ้นผิง

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา The Economist ได้เปิดประเด็นที่น่าสนใจซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนในเวลานี้ นั่นคือ ‘เยาวชนรุ่นสีจิ้นผิง’ หรือ ‘Generation Xi’

ซึ่งเป็นการนิยามเยาวชนจีนในปัจจุบันที่ทั้งมี ‘ความรักชาติ-ชาตินิยม’ (Patriotism) แต่ก็ ‘หัวก้าวหน้า’ (Progressive) มีความคิดสมัยใหม่ พร้อมขับเคลื่อนสังคมจีนให้พัฒนาขึ้นอยู่ตลอดเวลา

----------------
'เยาวชนคืนถิ่น'
----------------

ปัจจุบันเยาวชนจีน เริ่มหลั่งไหลกลับไปทำงานในถิ่นฐานบ้านเกิดตามชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทในประเทศจีนลดน้อยลง

พัฒนาการด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง การสร้างเมืองใหม่ การค้าการลงทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละมณฑล ระบบอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบ มีทางเลือกมากกว่าการเข้าไปเป็นแรงงานหรือพนักงานกินเงินเดือนในเมืองใหญ่ซึ่งมีค่าครองชีพสูง

----------------
ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงด้วยเทคโนโลยีออนไลน์
----------------

เทคโนโลยีและระบบออนไลน์ ทำให้ความแตกต่างระหว่างการอยู่ ‘เขตเมือง’ กับ ‘เขตชนบท’ ลดน้อยลงมาก ผู้คนในเมืองเล็กๆ หรือชนบทช้อปปิ้งผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ไม่ต่างจากผู้คนที่อยู่ในเมืองใหญ่

เมื่อทุกคนเข้าถึงระบบได้จากทุกที่บนผืนแผ่นดินจีน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมากระจุกตัวกันตามเมืองใหญ่

คนรุ่นใหม่ในจีนเห็นโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัวจากระบบออนไลน์ในโลกยุคดิจิทัล จากการลงทุน การค้า การโฆษณา การทำตลาดออนไลน์ ในขณะที่ทัศนคติเรื่องการรับราชการมีน้อยลง

กระแสโรแมนติกของการหวนคืนสู่ธรรมชาติอันชนบทมีมากขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่พากันหาสินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมารีวิวขายในตลาดออนไลน์ ประกอบกับการรีวิวการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่รัฐบาลและภาคเอกชนจีนก็ได้พัฒนาระบบการค้าออนไลน์ให้มีความสะดวกในทุกมิติ ตั้งแต่การสั่งซื้อ-ขาย การขนส่ง ค่าบริการขนส่งที่มีราคาต่ำ ซึ่งช่วยทำให้ตลาดการค้าเติบโตได้อย่างดี

----------------
'คนจีนโพ้นทะเลคืนถิ่น' (海归)
----------------

ด้านคนรุ่นใหม่ของจีนที่ไปรับการศึกษาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในชาติตะวันตก เริ่มหันกลับมาทำงานในประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสเติบโตที่มากขึ้น รวมถึงรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อในการทำงาน

ประกอบกับปัญหาผู้อพยพจากตะวันออกกลาง และนโยบายกดดันจีนของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ชาวอเมริกันมองจีนและชาวจีนเป็นภัยคุกคามต่อการครองอำนาจนำของตน จนเกิดกระแสการเหยียดเชื้อชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้ชาวเอเชียจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะชาวจีน หันหน้ากลับไปยังแผ่นดินแม่ที่ซึ่งมีโอกาสมีรายได้ที่ดี และไม่มีปัญหาด้านการเหยียดชาติพันธุ์ รอพวกเขาอยู่

จากสถิติคนจีนที่ไปเรียนต่างประเทศจำนวน 6.2 ล้านคนในระหว่างปี ค.ศ. 2000 - 2019 ปัจจุบันมีถึง 4 ล้านคนที่กลับมาทำงานในประเทศจีน

ในขณะที่ปี 2001 มีเพียงแค่ 14% เท่านั้นที่กลับมาทำงานในประเทศจีนหลังจบการศึกษาในต่างประเทศ แต่ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา คนจีนที่ไปศึกษาต่อและกลับมาทำงานในประเทศจีนพุ่งสูงขึ้นไปถึง 4 ใน 5 ส่วนของทั้งหมด

----------------
*** แน่นอนว่าทุกประเทศทุกสังคมล้วนมีปัญหาของตน แต่การที่คนรุ่นใหม่จะมีสำนึกรักชาติหรือภูมิใจในชาติบ้านเมืองได้ พวกเขาต้องเห็นอนาคต เห็นโอกาส และการพัฒนาที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาด้วย

และนั่นคือ สิ่งที่รัฐบาลจีนทำให้กับประชาชนของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศทุกประเทศควรนำมาศึกษาเป็นบทเรียนครับ

เขียนโดย: อ.ดร. กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (KMITL)


อ้างอิง:
https://www.economist.com/special-report/2021-01-23
https://www.economist.com/special-report/2021/01/21/young-chinese-are-both-patriotic-and-socially-progressive
https://www.economist.com/special-report/2021/01/21/the-gap-between-chinas-rural-and-urban-youth-is-closing
https://thinkmarketingmagazine.com/should-mena-be-looking-into-chinas-youth-for-the-future-zak-dychtwald-talks-young-china/

ประวัติศาสตร์ดำมืดของ “Chinatown” กับการกดขี่ชาวจีนในสหรัฐอเมริกา (ตอนที่ 1)

หากพูดถึง Chinatown หรือ “ย่านคนจีน” ทุกคนคงคุ้นเคยกันดีกับภาพของ “เยาวราช” ถิ่นของคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีผู้คนเดินกันอย่างพลุกพล่านและมีอาหารอร่อยอยู่ตลอดสองข้างทาง 

และหลายคนคงทราบว่า Chinatown แบบนี้ยังมีในอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่ชาวจีนจะมีประวัติศาสตร์อันน่าจดจำ เหมือนชาวจีนโพ้นทะเลที่มาอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยาม

สหรัฐอเมริกาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ชาวจีนมี “ประวัติศาสตร์อันขมขื่น” ก่อนการก่อตั้ง Chinatown ที่มีชื่อเสียงได้แบบที่เห็นในปัจจุบัน Chinatown ในอดีตถูกคนผิวขาวมองว่าเป็น “สิ่งโสโครก” (Filth) ที่รวมของ “เผ่าพันธุ์ที่มีจริยธรรมต่ำช้า” มาก่อน ก่อนที่จะกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเช่นในปัจจุบัน

ภาพวาดและภาพถ่ายย่าน Chinatown ในเมืองซานฟรานซิสโกหลังการบูรณะเมือง

จุดเริ่มต้นมาจากการที่ชาวจีนจำนวนหนึ่งอพยพไปยังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1800s โดยส่วนใหญ่ไปรับจ้างตามเหมืองทอง การก่อสร้างทางรถไฟ และโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะแรงงานราคาถูกที่ไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย

ครั้นพอถึงช่วงเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาตกต่ำระหว่างปี 1873-1879 ชาวอเมริกันจำนวนมาก ต่างพากันพุ่งความเกลียดชังมายังแรงงานจีนในประเทศ ว่าเป็นผู้แย่งงานของชาวอเมริกันผิวขาว จนนำไปสู่การสร้างทัศนคติเหยียดเผ่าพันธุ์ การเขียนการ์ตูนล้อเลียนชาวจีน ให้ดูอัปลักษณ์น่าเกลียด อ่อนแอ และเรียกชาวจีนว่าเป็น “ภัยเหลือง” (Yellow Peril)

ภาพการ์ตูนแสดงทัศนคติของชาวอเมริกันที่มีมองว่าชาวจีนอพยพเป็นภัยเหลืองที่คุกคามสังคมอเมริกัน

ตามมาด้วยการออก “กฎหมายกีดกันชาวจีน” (Chinese Exclusion Act) ในปี 1882 ซึ่งห้ามมิให้แรงงานอพยพชาวจีนอพยพมายังสหรัฐอเมริกา

และยังระบุให้ชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ เป็นคนต่างด้าว ที่ไม่มีสิทธิเป็นพลเมืองสหรัฐฯ รวมถึงจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ชาวจีนไม่มีสิทธิซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถจดทะเบียนตั้งกิจการได้ และไม่มีสิทธิในการพิสูจน์หลักฐานหรือเป็นพยานในชั้นศาล

กฎหมายกีดกันชาวจีน ปี 1882

ความเกลียดชังของคนอเมริกันที่มีต่อชาวเอเชีย นำไปสู่อาชญากรรมและความรุนแรงต่อชาวอเมริกันเชื้อสายจีนในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง

ปี 1871 มีการรุมประชาทัณฑ์ ด้วยการแขวนคอชาวจีน 18 ราย ในเมืองลอสแองเจลิส

ปี 1885 มีการสังหารหมู่แรงงานเหมืองชาวจีน 25 รายในเมืองไวโอมิ่ง

ปี 1885 มีกลุ่มคนผิวขาวชุมนุมขับไล่คนจีนที่ตั้งถิ่นฐานออกจากเมืองยูเรก้า

เหตุการณ์เหล่านี้พบได้ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในระหว่างปี 1849-1906 มีเหตุการณ์การขับไล่ และสังหารหมู่ชาวจีนเกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียถึงกว่า 200 ครั้ง

ภาพการ์ตูนที่แสดงความรังเกียจของชาวอเมริกันที่มีต่อชาวจีนอพยพ

ภาพวาดที่สื่อว่าแรงงานราคาถูกชาวจีน เป็นเสมือนฝูงตั๊กแตนที่กำลังทำลายไร่นาของชาวอเมริกัน

ภาพวาดแสดงเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวจีนในเมือง Wyoming ปี 1885

ชาวจีนจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา อพยพหนีมายังเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ซึ่งมีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยมองว่าน่าจะเป็นหนทางเดียวที่ตนจะมีพวกพ้องและมีความปลอดภัยมากขึ้น

ถึงกระนั้นก็ยังมีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการที่ชาวจีนจะเช่าที่อยู่อาศัย ทำให้ชาวจีนมาอาศัยรวมตัวกันในเขตตะวันออกของเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Chinatown ในปัจจุบัน โดยในย่านคนจีนนั้นมีธุรกิจเกิดขึ้นมาก เนื่องจากชาวจีนใน Chinatown จะค้าขายสินค้ากับชาวจีนแผ่นดินใหญ่

ย่าน Chinatown ในเมืองซานฟรานซิสโก ปี 1900

แต่เมื่อส่องลงไปในย่าน Chinatown เราจะพบว่า ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของย่านนี้ ไม่ได้เหมือนกับ Chinatown ในซานฟรานซิสโกในปัจจุบัน 

อาคารเป็นตึกแถวสไตล์ยุโรปแบบที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยที่ชาวจีนจะแสดงอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมของตน ด้วยการนำของประดับตกแต่ง เช่น ป้ายขนาดใหญ่ที่มีภาษาจีนเขียนอยู่บนป้าย โคมไฟจีน หรือยันต์มาแปะไว้ที่ตัวอาคาร เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของตน

Chinatown ปี 1901 (ภาพจากห้องสมุดสาธารณะเมืองซานฟรานซิสโก)

ชาวจีนประดับตกแต่งตึกแถวที่ตนเช่าใน Chinatown ด้วยโคมไฟและป้ายอักษรจีน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับที่อยู่อาศัยของตนเอง (ภาพจาก VOX : The surprising reason behind Chinatown's aesthetic)

เมื่อเมืองซานฟรานซิสโกขยายตัวขึ้น ย่าน Chinatown กลายมาเป็นที่หมายปองของนายทุนผิวขาวที่มองว่าสามารถทำเงินได้จำนวนมหาศาลจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจในที่ดินผืนนี้

คำที่ใช้ในหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นเป็นตัวสะท้อนทัศนคติของคนอเมริกันผิวขาวที่มีต่อชาวอเมริกันเชื้อสายจีนและย่าน Chinatown ได้เป็นอย่างดี เช่น 

“ทางการซานฟรานซิสโกจะทำการกำจัดพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยความโกลาหลและสิ่งโสโครก” (San Francisco Will Get Rid of Sixteen Square Blocks Turmoil of Turmoil and Filth) เพื่อให้เหมาะสมกับพ่อค้าผิวขาว (suitable to Caucasian merchant)  

“ที่ว่างซึ่งถูกใช้เหมือนที่ทิ้งขยะ” (Vacant Space Used As Dumps) และ “ผู้จัดการทรัพย์สินจะลงไปสำรวจย่านคนจีนที่แสนจะโสโครก” (Trustees Inspect Filthy Chinatown) 

แผนที่ย่าน Chinatown ปี 1885 ที่จัดทำโดยคณะกรรมการทีปรึกษาพิเศษของเมือง

นอกจากนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาพิเศษของเมืองซานฟรานซิสโก ยังได้จัดทำผังรายงานกิจการในย่าน Chinatown โดยเน้นไปที่โรงฝิ่น, ซ่องโสเภณี และบ่อนการพนัน ซึ่งในรายงานของคณะกรรมการอีกฉบับได้ระบุว่า เป้าหมายของรายงานเกี่ยวกับย่าน Chinatown ก็เพื่อ “เปิดเผยศีลธรรมอันต่ำช้า การกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อน และบรรดาสิ่งชั่วร้ายที่เผ่าพันธุ์นี้เป็นอยู่”

ภาพประกอบจาก VOX : The surprising reason behind Chinatown's aesthetic

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นได้ถึงทัศนคติของชาวอเมริกันผิวขาวที่มีต่อชาวจีนว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม สิ่งโสโครก เป็นเผ่าพันธุ์ชั่วร้ายที่ฝังตัวอยู่ในสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตอย่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความเกลียดชังเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรง

ไม่ต่างจากในยุคปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วประเทศ ได้ทำให้ชาวอเมริกันพุ่งความเกลียดชังที่มีต่อชาวจีน หรือ ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ดังที่เห็นได้จากสถิติอาชญากรรมต่อชาวเอเชียที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด

ภาพซ้าย การเดินขบวนต่อต้านอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อชาวเอเชียของคนในย่าน Chinatown หลังเหตุทำร้ายร่างกายคนอเมริกันเชื้อสายจีนและเอเชียจำนวนมากในปี 2020, ภาพขวา สถิติอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา ที่พุ่งสูงขึ้น 149% ระหว่งปี 2019-2020

สำหรับตอนที่ 2 เราจะมาต่อกันกับ “ชะตากรรมและจุดพลิกผัน” ของย่าน Chinatown ในซานฟรานซิสโก ที่พลิกจากวิกฤตกลายมาเป็นโอกาสในการอยู่รอด จนสามารถรักษาอัตลักษณ์และความเป็นชุมชนชาวจีนมาได้จวบจนปัจจุบัน

 

ข้อมูลอ้างอิง 

National Geographic: The bloody history of anti-Asian violence in the West
https://www.nationalgeographic.com/history/article/the-bloody-history-of-anti-asian-violence-in-the-west

VOX: The surprising reason behind Chinatown's aesthetic
https://www.youtube.com/watch?v=EiX3hTPGoCg

History Channel: Chinese miners are massacred in Wyoming Territory
https://www.history.com/this-day-in-history/whites-massacre-chinese-in-wyoming-territory

Los Angeles Almanac: 1871 Chinese Massacre
http://www.laalmanac.com/history/hi06d.php

  หนังสือพิมพ์ The Topeka Herald วันที่ 4 พฤศจิกายน 1905 
  หนังสือพิมพ์ The Evening Bee วันที่ 29 มีนาคม 1900


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ข้อเสนอแนะปฏิรูปการสื่อภาครัฐ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารข้อมูลข่าวสาร และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนทุกคน

ทุกท่านคงได้เห็นแล้วว่าปัญหาของการสื่อสารของภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นั้น ถือว่ามีปัญหาและขาดประสิทธิภาพอย่างรุนแรง

ประชาชนตกอยู่ในความวิตกกังวล สับสน และขาดความเชื่อมั่น เพราะไม่รู้ว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ ในขณะที่ผู้ปั่นกระแสข่าวปลอมก็ย่ามใจ กระทำการได้โดยเข้าถึงประชาชนมากกว่าภาครัฐ โดยใช้วิธีการสื่อสารที่เน้น Keyword และย้ำข้อความเดิม ๆ จนทำให้คนเกิดความเชื่อในข่าวลือนั้น

ซึ่งทำให้การบริหารสถานการณ์โควิดและการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น บทความนี้จะนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1.) ทัศนคติในการสื่อสาร

ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และทัศนคติที่มีต่อการสื่อสารปัจจุบัน คือ ต้องเปลี่ยนจากการทำตัวเป็นเจ้านายที่ถนัดในการ “ออกคำสั่ง” ในแถลงการณ์ และคิดว่าประชาชนมีหน้าที่รับฟังและนำปฏิบัติตามโดยโดยไม่สนใจว่าผู้ฟังจะได้รับสาร หรือ จะเกิดความสับสนในสารที่ได้รับไปหรือไม่

โดยต้องปรับมาเป็นการต้องยึดผู้รับสารหรือ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” โดยพยายามสื่อสารในประเด็นที่เขาสงสัยและต้องส่งข้อมูลไปให้ถึงผู้รับสารให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้รัฐยังต้องเข้าใจว่าการต่อสู้กับการบิดเบือน ไม่ใช่แค่การหาเครือข่ายหรือผู้สนับสนุนมาโต้เถียงในโลกออนไลน์ แต่คือการสื่อสารที่ทำให้คนตรงกลางซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เข้าใจข่าวสารและข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และนั่นคือวัคซีนสำคัญในการป้องกันไวรัสข่าวปลอม

2.) วิธีการสื่อสาร

การทำภาพเพื่ออธิบายข้อมูลที่จะสื่อสาร ต้องมีความกระชับ เข้าใจง่าย เสพง่าย สามารถนำไปส่งต่อหรือนำไปใช้อธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ หรือแก้ปัญหาความเข้าใจผิดในวงกว้างได้ทันที โดยไม่ต้องมานั่งตีความให้ซับซ้อนวุ่นวาย เหมือนแถลงการณ์อันแสนยืดยาวที่ผู้มีอำนาจชอบทำในอดีต

การทำข้อมูลต้องอธิบายใน “ประเด็นที่ประชาชนสงสัย” ไม่ใช่สิ่งที่รัฐคิดว่าตนอยากอธิบายแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทำได้ด้วย 2 วิธีการคือ 

(1) การใช้เครื่องมืออย่าง Social Listening หรือการเก็บข้อมูลเชิงสถิติในโลกออนไลน์หรือสื่อต่าง ๆ เพื่อนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ ความสนใจและทัศนคติที่ประชาชนกำลังมีอยู่ในขณะนั้น 

(2) การใช้หน่วยสำรวจ ทีมงาน หรือคณะทำงานที่คอยสอดส่องกระแสอารมณ์หรือความสงสัยของผู้คนในโลกออนไลน์ในแต่ละแพลตฟอร์ม 

โดยทั้งสองวิธีการนี้ต้องทำควบคู่กันไป เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหา และสถานการณ์ความเข้าใจผิด รวมถึงวางแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อดักทางกระแสข่าวปลอมได้ทันต่อสถานการณ์ 

3.) กระบวนการสื่อสาร

ภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการรอให้คนมารับสาร เหมือนการแถลงข่าวก่อน/หลังภาพยนตร์ช่วง Prime Time ในทีวีเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เพราะทุกวันนี้แต่ละคนใช้มือถือกันหมดแล้ว ดังนั้นการนำข้อมูลข่าวสารเข้าถึงประชาชนจึงต้องทำใน “เชิงรุก” คือทำอย่างไรก็ได้ให้ข้อมูลที่ต้องการสื่อสารเข้าถึงประชาชนได้ไวที่สุด

กรณีเป็นชุมชน อาจใช้วิธีการภาคสนามคือ อาศัยเครือข่ายประธานชุมชน และ จิตอาสา อย่าง อ.ส.ม.หรือเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในการช่วยกระจายข้อมูลลงไปในพื้นที่

กรณีเป็นบ้านรั้ว ต้องประสานสื่อหรือเพจที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ในการกระจายข่าวสาร และหากหน่วยงานภาครัฐต้องการเผยแพร่ข้อมูลเอง ต้องทำการยิงโฆษณาไปตามจำนวนประชากรที่มีอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยอาจขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะ Facebook, Twitter, IG, TikTok ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นข้อมูลเกี่ยวกับด้านการสาธารณสุขในช่วงวิกฤตไวรัสโควิดด้วยแล้ว ยิ่งน่าจะขอความร่วมมือจากภาคเอกชนได้ง่ายมากกว่าในภาวะปกติ

การทำงานในรูปแบบนี้ ต้องใช้การประสานงานแบบบูรณการจากหลายภาคส่วนทั้ง ข้อมูลทะเบียนราษฎรจากกระทรวงมหาดไทย, ข้อมูลด้านสาธารณสุขจากกระทรวงสาธารณสุข, การประสานงานด้านดิจิทัลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทั้งหมดจะทำไม่ได้เลยหากขาดการสั่งการที่เป็นเอกภาพ

4.) การปราบปรามผู้กระทำผิดและแก้ไขความเข้าใจผิด

แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ (1) การตรวจสอบสื่อที่บิดเบือน (2) การแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้รับสาร (3) การดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข่าวปลอม

ตัวอย่างกรณีที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต จาก NIDA ซึ่งได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับ ศบค. ได้ออกมาแก้ข่าวที่เกิดจากการบิดเบือนสื่อมวลชน จนทำให้สื่อใหญ่หลายสำนักต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษ และแสดงความรับผิดชอบ 

เช่น กรณีไทยพีบีเอส แปลข่าวประสิทธิภาพวัคซีนผิดจากข่าวต้นฉบับของต่างประเทศ หรือกรณีช่อง 3 บิดเบือนเนื้อหาของหมอทวีศิลป์ จนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง ศบค.และคุณ อรอุมา สิทธิรักษ์ นักวอลเลย์บอลทีมชาติไทย 

กรณีนี้ อ.วรัชญ์ ได้ทำการตรวจสอบการบิดเบือน จนทำให้สำนักข่าวต้องยอมลบเนื้อหา และแถลงการณ์ขอโทษต่อสาธารณชน รวมไปถึงการที่ อ.วลัชญ์ชี้แจงเนื้อหาที่แท้จริงให้กับคุณอรอุมา จนแก้ไขความเข้าใจผิดระหว่างหมอทวีศิลป์และนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยได้สำเร็จ 

สุดท้ายคือ การดำเนินคดีกับผู้จงใจบิดเบือนข่าวสารหรือตั้งใจเผยแพร่ข่าวลือขาวปลอม โดยหวังผลให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังในหมู่ประชาชนอย่างชัดเจน 

หากภาครัฐยังปล่อยให้บุคคลเหล่านี้ลอยนวล ซึ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ทำผิด

จะไม่เกรงกลัวกฎหมายและย่ามใจคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ

ทั้งหมดนี้ คือข้อเสนอสำหรับการปฏิรูปการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ และที่ผมได้เขียนมานั้น มิได้เพราะนิยมชมชอบหรือสนับสนุนรัฐบาลหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องการให้ภาครัฐเกิดความมีประสิทธิภาพในการสื่อสารต่อประชาชน

เพราะการสื่อสารและบริหารข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นคง และเกิดความร่วมมือต่อโครงการหรือนโยบายสาธารณะต่าง ๆ 

เช่น หากภาครัฐมีนโยบายการพัฒนา ส่งเสริมธุรกิจและอาชีพ แต่ประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูล ก็จะทำให้ประชาชนเสียโอกาสเหล่านั้น และการพัฒนาประเทศก็จะเป็นไปได้อย่างล่าช้า ซึ่งไม่เป็นการดีต่อประชาชนทุกคนในประเทศนี้ ดังนั้นเรื่องการสื่อสารจึงถือเป็นหัวใจอย่างหนึ่งในพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศในเจริญรุดหน้าไปได้อย่างมั่นคง


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

อีกมิติวิกฤตไวรัสโควิด มหันตภัย คู่ขนาน... ‘ข่าวปลอม-ข้อมูลไม่ชัด’ ‘ความมั่นคงของชาติ’ ที่รัฐต้องไม่ละเลย

หลายคนอาจมองว่า “ความมั่นคงของชาติบ้านเมือง” มีแค่มิติของการทหาร ตำรวจ การรักษาความสงบเรียบร้อยปลอดภัยจากข้าศึก การก่อการร้าย และภัยพิบัติภายในประเทศ 

แต่แท้ที่จริงแล้วหากเราย้อนกลับไปดูตลอดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองโลก เราจะพบว่าเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องและคุณภาพชีวิต คือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองในทุกสังคมทั่วโลก

การลุกขึ้นมาล้มผู้ปกครองล้วนแต่มาจากความขาดความเชื่อมั่นว่าผู้ปกครอง “มีความสามารถ“ หรือ “มีประสิทธิภาพ” ในการบริหารจัดการสังคมในภาวะวิกฤตได้ เช่น การล้มราชวงศ์ชิง หลังไม่สามารถปกครองให้ชนชาติจีนสู้กับชาติตะวันตกที่เข้ามารุมกินโต๊ะชาวจีนในเวลานั้นได้

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ต่างจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา ตรงที่กลุ่มของการแพร่เชื้อมีจำนวนมากกว่า 2 ครั้งแรก และมีการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อในวงกว้าง ทั้งจากสถานบันเทิงและงานอีเว้นท์ที่มีผู้คนจำนวนมากออกมารวมตัวกัน

เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงกว่า 2 ครั้งแรก แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจและวิตกกังวลมากกกว่า 2 ครั้งแรกก็คือ 

(1.) การแสดงความรับผิดชอบ: ประชาชนไม่เห็นระดับผู้นำรัฐบาล ออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจ ต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และปล่อยให้สถานประกอบการดำเนินการ อย่างหละหลวมในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

(2.) การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน: ปัจจุบันคนไม่มีข้อมูลที่ทำให้ทราบได้ว่า ภาครัฐมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 แค่ไหน? ปัจจุบันไทยมีวัคซีนเท่าไร? วัคซีนที่กำลังจะมาถึงหรือผลิตได้มีอีกเท่าไร? ปัจจุบันมีผู้ฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าไรแล้วและเป็นใครบ้าง? และแผนการฉีดวัคซีนต่อวันเป็นอย่างไร? 

เราเห็นข่าวประชาชนจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ที่ไม่สามารถหาเตียงเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลได้ เราเห็นผู้คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีการเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนตั้งแต่แรก แต่กลับมาทำในช่วงหลังที่โดนกระแสโจมตีจากประชาชน

ในทางจิตวิทยา มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อพบเจอกับสิ่งที่ตนไม่รู้ และคาดคะเนไม่ได้ มันจะทำให้พวกเขาขาดกรอบอ้างอิง (Frame of Orientation) ว่าพวกเขาอยู่ตรงไหนและ กำลังจะพบเจออะไรในอนาคต 

คำถามหรือประเด็นข่าวสารเหล่านี้ ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่สามารถคาดคะเนหรือเห็นภาพของสถานการณ์ทั้งหมดได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียดสะสม อันจะนำไปสู่ช่องโหว่ให้เกิดการแพร่กระจายความลือ ความปลอมได้อย่างง่ายดาย

สิ่งที่ภาครัฐต้องทำในเวลานี้ คือ การแสดงท่าทีระดับผู้นำของภาครัฐที่มีความเข้มแข็งชัดเจน มีตัวเลขและข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย ประกอบกับประชาสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในวงกว้าง

ผมขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับข่าวปลอมในช่วงไวรัสโควิด เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยใน Los Alamos National Laboratory รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่งานวิจัยที่เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากทวิตเตอร์กว่า 1.8 ล้านแอคเคาท์ แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยระบบ AI จนพบรูปแบบหรือพฤติกรรมของการเผยแพร่ข่าวปลอมและทฤษฎีสมคบคิด

งานวิจัยดังกล่าวพยายามวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้เข้าใจถึงพฤติกรรมของการเผยแพร่ ดัดแปลงข่าวสาร และการใช้คำที่ผสมอารมณ์ความรู้สึกเพื่อให้เกิดความรู้สึกลบ กระตุ้นให้ผู้รับสารเชื่อและแชร์สารต่อไปในวงกว้าง 

โดยทีมวิจัยระบุว่า เป้าหมายหลักของงานวิจัยชิ้นนี้ ก็เพื่อที่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ไปใช้ในการ “วางแผน” เพื่อการทำข้อมูลที่ถูกต้องในประชาสัมพันธ์ เพื่อที่จะได้ต่อสู้กับข่าวปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนที่มันจะทำให้คนเชื่อไปในวงกว้าง

ผมคิดว่าอาจถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทย หรือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) จะต้องเริ่มทำงานอย่างเป็นระบบ มีการใช้ข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลจากการวิเคราะห์พฤติกรรมในโซเชียลมีเดีย ให้รู้ว่าแนวโน้มข่าวลือ ความปลอมเป็นอย่างไร 

เพื่อจะได้ทราบว่าจะวางแผนในการนำข้อมูลข่าวสารไปให้ถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงต่อการวิตกกังวลในการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะหากประชาชนไม่ทราบข้อเท็จจริง และตื่นตระหนกด้วยข่าวลือความปลอมที่เกิดขึ้น สิ่งที่ตามาคือการบริหารบ้านเมืองในภาวะวิดฤตที่จะทำได้ยากขึ้น เพราะคนจะขาดความเชื่อมั่นในการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในปฏิบัติการต่าง ๆ และสุดท้ายจะส่งผลเสียต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย รวมถึงส่งผลเสียต่อประชาชนทุกคนในประเทศนี้ด้วย


ข้อมูลอ้างอิง 
https://losalamosreporter.com/2021/04/14/rep-christine-chandler-speaks-to-county-council-on-legislative-session-what-passed-how-covid-measures-worked/
https://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/ai-bill-gates-covid-conspiracy-b1834287.html
 

โอกาสของแบรนด์เสื้อผ้าไทย เมื่อชาวจีนพร้อมใจคว่ำบาตร เสื้อผ้าจาก สหรัฐอเมริกา และ ชาติพันธมิตร

Special Scoop

-----------------

เป็นที่ฮือฮากับปรากฎการณ์ที่ประชาชนชาวจีนได้ออกมาแสดงพลังของผู้บริโภค ในประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก

ด้วยการที่ศิลปินดาราจีนกว่า 30 ราย ได้ออกมายกเลิกสัญญากับแบรนด์เครื่องแต่งกายของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร อย่าง H&M, Nike, Adidas, Puma, Burberry, Uniqlo, Lacoste, CK, Tommy Hilfiger, Converse, New Balance

----------------------

ตอบโต้ข้อกล่าวหาของชาติตะวันตก

----------------------

ปรากฎการณ์ที่ศิลปินดารา รวมถึงโซเชียลมีเดียของชาวจีน ออกมา Call Out ในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ

โดยองค์กรเหล่านั้นได้ออกมากล่าวหาว่า “จีนบังคับใช้แรงงานทาสชาวซินเจียงอย่างโหดร้ายทารุณ” จนแบรนด์ดังของฝั่งตะวันตกและญี่ปุ่น ได้ออกมาขานรับแคมเปญ "ไม่รับซื้อผ้าฝ้ายจากซินเจียง"

ในขณะที่ชาวจีนต่างมองว่านี่เป็นเกมการเมืองของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรที่ใส่ร้ายป้ายสีและต้องการบีบประชาชนชาวจีน

โดยเอากรณีที่รัฐบาลจีนจับกุมกลุ่มก่อการหัวรุนแรงในซินเจียง เพื่อนำไปเข้าค่ายฝึกอาชีพ และ ปรับทัศนคติ ไปเหมารวมว่าชาวจีน "มีการกดขี่ข่มเหงชาวอุยกูร์เพื่อใช้แรงงานทาส"

----------------------

ปฏิบัติการ Call Out และ Social Sanction

----------------------

แบรนด์แรกที่โดนคว่ำบาตรจากชาวจีนคือ H&M ซึ่งได้ออกมาแถลงการณ์ออกมาขานรับกับองค์กรสิทธิมนุษยชนจากฝั่งตะวันตก ในสัปดาห์ที่แล้ว

จนเกิดเป็นกระแสในโซเชียลมีเดียของจีนอย่าง Weibo เรียกร้องให้มีการ Call Out เพื่อตอบโต้ต่อการกล่าวหาของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรด้วยการคว่ำบาตร H&M จากตลาดจีน

การคว่ำบาตร เริ่มจากการที่เว็บซื้อขายออนไลน์ของจีนอย่าง Tmall, Pinduoduo, JD.com ได้นำการค้นหาแบรนด์ดังกล่าวออกจากเว็บ

และการเริ่มทยอยนำชั้นจำหน่ายสินค้าแบรนด์ดังกล่าวออกจากห้างสรรพสินค้าในประเทศจีน รวถมึงปลดป้ายโฆษณาของแบรนด์เหล่านี้ลงพืน้ที่โฆษณา

จนมาถึงการประกาศยกเลิกสัญญาของศิลปินดารากว่า 30 รายกับแบรนด์ชั้นนำที่ออกมาขานรับข้อกล่าวหาของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร

ที่น่าสนใจคือ ดาราสาวชาวอุยกูร์ ตี่ลี่เลอปา ที่เกิดใน อุรุมชี มณฑลซินเจียงเอง ก็เป็นหนึ่งในดาราดังที่ออกมา Call Out และประกาศยกเลิกสัญญากับทาง Adidas ด้วย

ในโซเชียลมีเดียของจีนมีการวิพากษ์ถึงพฤติกรรมของแบรนด์ดังหลายยี่ห้อว่า “ในขณะที่พวกคุณต้องการหารายได้จากในประเทศจีน แต่กลับเผยแพร่ข่าวลือเท็จ และเรียกร้องให้คว่ำบาตรผ้าฝ้ายจากซินเจียงหรือ?”

หมายเหตุ : ด้าน Muji แบรนด์ดังจากญี่ปุ่น ได้ไล่ลบโพสต์ที่เขียนสนับสนุนการคว่ำบาตรไม่ซื้อผ้าฝ้ายจากซินเจียงออกจากเว็บและเพจต่างๆ ในโซเชียลมีเดียจนหมด ซ้ำยังขึ้นป้ายผ้าทุกชิ้นที่ขาย ว่ามาจากซินเจียงด้วย จนทำให้ชาวจีนบอกว่า “Muji อยู่เป็น”

----------------------

โอกาสมูลค่านับแสนล้านของแบรนด์เสื้อผ้าไทย

----------------------

ในขณะที่จีนเริ่มตอบโต้ต่อสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร ด้วยการคว่ำบาตรแบรนด์ดังเหล่านั้น

อีกด้านผู้ขายสินค้าและห้างสรรพสินค้าในจีน เริ่มมองหาแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำจากประเทศอื่นที่ไม่นำเรื่องการเมืองมาเป็นเครื่องมือทางการค้า

โดยไทยเป็นหนึ่งในชาติที่มีความสัมพันธ์อันดีกับชาวจีนมาอย่างยาวนาน รวมถึงกระแสภาพยนตร์หลายเรื่องจากไทย ผลไม้ไทย การท่องเที่ยวของไทย และอัธยาศัยที่เป็นมิตรของชาวไทย อยู่ในความนิยมของชาวจีนไม่น้อย

ปัจจุบันผู้ประกอบการและห้างร้านของจีน เริ่มมีการติดต่อผู้ค้าชาวไทย เพื่อหาแบรนด์เสื้อผ้าจากไทยไปลงในตลาดจีน

ซึ่งนี่เป็นโอกาสสำคัญที่แบรนด์เสื้อผ้าไทยจะได้ไปทำตลาดในประเทศที่มีประชากรถึง 1.4 พันล้านคน

และเมื่อเราลองพิจารณาดูจากรายได้ของ H&M ในตลาดจีนที่สูงถึง 1.05 หมื่นล้านบาทใน 1 ปี จะพบว่าหากแบรนด์สินค้าจากไทย สามารถเข้าไปแทนที่รายได้ดังกล่าวของ H&M และแบรนด์อื่นๆ ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้าน

ต้องถือว่าปรากฎการณ์ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญครั้งใหญ่ สำหรับการบุกเบิกตลาดแบรนด์เสื้อผ้าไทย ซึ่งจะนำรายได้กลับมาสู่ผู้ประกอบการชาวไทยอย่างมหาศาล

โอกาสมาถึงแล้วครับ!!!

----------------------

เรื่อง: อ.ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์

อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (KMITL) เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมทางศาสนา ระบบสัญลักษณ์ในศิลปะสถาปัตยกรรมและตำนานวิทยา เคยสอนพิเศษด้านปรัชญาการเมืองและทฤษฎีสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความสนใจด้านพัฒนาการของมนุษย์ผ่านหน้าประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมร่วมสมัย

----------------------

อ้างอิง

----------------------

- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-24/h-m-blasted-on-chinese-social-media-for-pulling-xinjiang-cotton?sref=CVqPBMVg

- https://www.globaltimes.cn/page/202103/1219474.shtml

- https://www.businessoffashion.com/articles/china/nike-loses-china-brand-ambassadors-over-xinjiang-other-brands-under-fire

----------------------

เครดิตภาพ 

https://entertain.teenee.com/chinese_star/216440.html


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top